รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยรายงานโครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระยะที่ 4 เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา โดยเห็นว่า ประเทศไทยต้องเร่งหาโมเดลการพัฒนาใหม่ให้เติบโตตามทันกระแสโลก เพื่อยกระดับให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ระกอบการไทย รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาค สร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออกระดับโลก ระดับภูมิภาค และกำลังซื้อในประเทศระยะยาว ขณะเดียวกันต้องเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และปรับค่าตอบแทนของแรงงานให้เหมาะสม ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมของไทย ต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่างๆ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวให้ผู้ประกอบการรับทราบ โดยเน้นสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์ค่อนข้างต่ำก่อน เช่น ผู้ส่งออกยาและผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมไปออสเตรเลีย ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปอาเซียน ส่งออกยางไปญี่ปุ่น ขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และความชัดเจนของกระบวนการใช้สิทธิประโยชน์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากรควรกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานตามระยะเวลาพิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ และต้องพัฒนาและปรับปรุงคู่มือปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่เป็นระยะ เพื่อลดปัญหาดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับให้ข้อมูล และคำปรึกษาแบบจุดเดียวให้ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูล และวางแผนได้ นอกจากนี้ยังให้เจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากร รวมถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง พร้อมสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น (เจเทปป้า) และความตกลงยอมรับร่วมภายใต้เจเทปป้าและอาเซียน เช่น ผลักดันโครงการตามกรอบที่ยังไม่คืบหน้า ทั้งโครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการปรับปรุงห้องปฏิบัติการทดสอบของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในเรื่องของลดผลกระทบจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี นั้น กระทรวงพาณิชย์ควรรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว และควรจัดทำระบบแจ้งเตือนให้สมาชิกรับทราบความเคลื่อนไหว พร้อมทั้งมีระบบจัดการความรู้ให้เข้าใจง่ายขึ้น ก่อนนำเสนอข้อมูลของมาตรการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น การสรุปข้อมูลตามกลุ่มสินค้า ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานกลางร่วมกนของอาเซียน โดยอนุญาตให้สินค้าหรือสถานประกอบการ ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองแล้วไม่ต้องมาตรวจซ้ำอีก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะอุตฯยกเครื่องรับกระแสโลก

Posts related