shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

Archives for ข่าวการตลาด เศรษฐกิจ

คมนาคมเล็งเพิ่มเที่ยวรถรับประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคม ได้เตรียมพร้อมรถโดยสารสาธารณะขากลับทั้งรถ บขส. รถไฟ เพื่อรองรับประชาชนเดินทางกลับกรุงเทพฯ จากการไปฉลองเทศกาลปีใหม่ โดยมีตั้งแต่วันที่ 1-3 ม.ค.57 สามารถรองรับประชาชนได้รวมมากกว่า 1 ล้านคน แต่แนวโน้มการใช้บริการรถสาธารณะในปีนี้น้อยลง เนื่องจากประชาชนหันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงบางส่วนก็กังวลปัญหาการเมืองทำให้ไม่อยากเดินทาง สำหรับปริมาณผู้ใช้บริการรถขาออกช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาของ บขส. รวม 3 วัน 534,350 คน ต่ำกว่าปีที่แล้ว 3.12% แบ่งเป็นใช้บริการที่สถานีจตุจักร 64.85% เอกมัย 10.33% สายใต้ 24.82% ขณะที่ปริมาณผู้ใช้บริการ รถไฟ 3 วัน มี 318,656 คน น้อยกว่าปีก่อน 16.09% แบ่งเป็นการใช้บริการเพื่อเดินทางไปสายอีสาน 34.59% สายใต้ 23.65% สายเหนือ 19.74% และสายตะวันออก 11.19% นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) กล่าวว่า การเตรียมรถไฟรับประชาชนในช่วงขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 1-3 ม.ค.57 รฟท. ได้เตรียมเพิ่มตู้โดยสารขบวนละ 1-2 ตู้ และเพิ่มเที่ยววิ่งเสริมในเส้นทางสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือรวม 27 เที่ยวซึ่งใกล้เคียงกับยอดขาออก รองรับผู้โดยสารมากกว่า 4-4.5 แสนคน แต่ยอมรับว่าประชาชนอาจไม่ได้ใช้หนาแน่นเหมือนก่อน เพราะปีนี้คนหันมาขับรถไปเที่ยวเอง รวมถึงเศรษฐกิจไม่ดี และมีปัญหาการเมืองทำให้คนอาจเดินทางออกกรุงเทพฯ น้อยลง ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า บขส.ได้ประสานงานไปตามสถานีขนส่งจังหวัดทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบปริมาณยอดใช้บริการ ซึ่งได้เตรียมรถขาเข้ามาในกรุงเทพ ใกล้เคียงกับยอดขาออก โดยมีรถรวมกว่า 21,604 เที่ยว หรือเฉลี่ยมากกว่าวันละ 7,000 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร 549,116 คน อย่างไรก็ตามขาเข้า ส่วนใหญ่จะมีการทยอยเดินทางเข้า จึงมั่นใจว่าจะไม่มีผู้โดยสารตกค้างแน่นอน รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า กรมทางหลวงยังคงยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพ–ชลบุรี (สายใหม่) และสาย 9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน–บางพลี) จนถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 3 ม.ค.57 ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เตรียมยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 ม.ค.57 เช่นเดียวกัน  นายอัฌษไธค์  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงการแก้ปัญหาจราจรกระจุกตัวตามสถานีขนส่งทั้งภูมิภาคและสถานีขนส่งหมอชิตในช่วงขาเข้า จนรถเมล์โดยสาร และรถแท็กซี่ ไม่เพียงพอต่อการให้บริการว่า ปีนี้จะปรับแผนใหม่ โดยเฉพาะเส้นทางจากสถานีขนส่งจังหวัดนครราชสีมาเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งมักมีผู้ใช้บริการรถโดยสารคับคั่ง  โดยประสานงานไปยัง บขส. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้ บขส. นำรถโดยสารไม่ประจำทาง หรือรถประเภท 30 เข้ามาวิ่งจากต้นทางสถานีนครราชสีมา 200 คัน มาส่งผู้โดยสารที่จุดขึ้นลงรถโดยสารรังสิต หลังจากนั้นประสานงานให้รถเมล์ ขสมก. รับผู้โดยสารจาก เพื่อส่งผู้โดยสารที่สถานีบีทีเอสจตุจักรอีกทอดหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหารถกระจุกตัว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คมนาคมเล็งเพิ่มเที่ยวรถรับประชาชน

Posts related

 














เศรษฐกิจปีมะเมียอาการสาหัส กูรู…ฟันธงการเมืองฉุดจีดีพีวูบ

 ปีเก่ากำลังจะผ่านพ้น…ปีใหม่ก้าวเข้ามา แต่เชื่อได้ว่า ณ เวลานี้ คนไทยทั้งประเทศ ต่างมีคำถามว่า สุดท้ายแล้วทางออกของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?   เพราะตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปี 56 คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเมืองที่เปรียบเหมือนพายุลูกใหญ่ที่ฉุดกระชากให้เศรษฐกิจไทยดิ่งจมเหวไปทุกวัน จนบรรดาสำนักวิจัย บรรดากูรู ต้องออกมาปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยกันหลายรอบ สุดท้าย !!!ต่างฟันธงว่าต่ำกว่า 3% แน่นอน ด้วยเพราะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นกำลังยืดเยื้อ…จากจุดเริ่มต้นเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อยไปจนถึงการล้มล้างระบอบ “ทักษิณ” จนกระทั่งการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปประเทศ”  แม้หลายฝ่ายเห็นพ้องกับการปฏิรูปประเทศ และรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปขึ้นควบคู่ไปกับการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 แต่ฝั่งตรงกันข้ามยังไม่เห็นด้วยเพราะเป้าหมายคือต้องการให้นายกฯ “ลาออก” จนถึงเวลานี้…ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า หนทางแห่ง “ความสงบ” ของประเทศคือเมื่อใด   ที่สำคัญแม้ว่าการเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ใคร? จะการันตีได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้ง หรืออาจมีสารพัดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาเกิดขึ้นก็ได้ คำตอบนี้…ยังเป็นสถานการณ์ที่คนไทยทุกคนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นนั่นหมายความว่าประเทศจะเกิดภาวะ ’สุญญากาศ“ ที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ! แม้ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีมะเมียมีโอกาสพุ่งทะยานไปถึง 5% ได้ทีเดียว แต่มีเงื่อนไขว่า เศรษฐกิจโลกต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า  3.5% หลังจากที่ขยายตัวต่ำสุดที่ 2.9% ในปี 56, การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ต้องทำให้ได้รวมกันแล้ว 226,522 ล้านบาท นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ต้องไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย 80%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 57 ไม่สูงกว่า 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และที่สำคัญ…ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีความรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน แต่โอกาสที่ว่าคงไม่มีให้เห็นแน่นอน! เพราะตลอดทั้งปี 56 เศรษฐกิจไทยก็แทบเอาตัวไม่รอด เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับสนิท ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่เชื่อกันว่าจะติดลบแน่นอน หรือแม้แต่การบริโภค การลงทุน หรือการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ขยายตัวต่ำมากจนไม่สามารถช่วยดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดฝัน แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง ที่แม้เวลานี้ตัวเลขของผลกระทบจากการเมืองจริง ๆ ยังไม่มีใครสรุปได้ชัดเจน แต่เบื้องต้นก็คาดการณ์กันไว้ว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 57 ความเสียหายจะทวีคูณเพิ่มขึ้นไปถึงเกือบ 2 แสนล้านบาททีเดียว ขณะที่ในปี 57 นี้มีการคาดหวังกันไว้ก่อนหน้านี้ว่าเรื่องของ “การลงทุน” และ “การส่งออก” จะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ฉุดให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้แทนการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการ 2 ล้านล้านบาท รวมไปถึงการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้นน่าจะทำให้การค้าการขยายการส่งออกดีขึ้นไปด้วย เมื่อการส่งออกดีก็จะทำให้ภาคการผลิตขยายตัวได้ ทำให้เอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงการประมูลทีวีดิจิทัลที่กำหนดราคาประมูลไว้ที่ 15,190 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7% ของการลงทุนภาคเอกชนทั้งปี และการลงทุนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี  ด้วยเหตุนี้การลงทุนโดยรวมน่าจะเติบโตได้ถึง 7.1% เมื่อเทียบกับปี  56 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.9%  ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เชื่อว่าจะดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 2.9% เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องของรายได้เกษตรกรที่มองว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ครัวเรือนยังมีหนี้สินแต่สถาบันการเงินกลับระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมไปถึงการที่ก่อนหน้านี้เรื่องของรถยนต์คันแรกที่ทำยอดขายได้จำนวนมหาศาลถึง 1.2 ล้านคันนั้น ได้ทำให้มีแรงต้านจากฐานการขยายตัวที่สูง ส่วนเครื่องยนต์หลักอย่างการส่งออก น่าจะเติบโตได้มากถึง 7%  เพราะเศรษฐกิจโลกสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น รวมไปถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวได้ 7%  แต่จากเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น คงไม่สามารถทำให้การคาดหวังเหล่านี้เป็นจริงไปได้ เพราะไม่รู้ว่าในปี 57 นี้จะมีรัฐบาลเกิดขึ้นหรือไม่และหากเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นต้องใช้เวลาอีกเพื่อหามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีผลใช้ได้จริง ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะหยุดนิ่งหยุดสนิทไม่เคลื่อนที่  เมื่อเป็นเช่นนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ดับสนิทตลอดปี 56 ก็ยังไม่สามารถจุดได้ติดและส่งผลต่อเนื่องต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 57 ที่อาจชะลอตัวอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นไปได้ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ได้ทำให้หลายค่ายหลายสำนักต่างออกมาปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจกันใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังที่เชื่อว่าเศรษฐกิจในปีมะเมียนี้เติบโตได้เพียง 4% เท่านั้น จากเดิมที่มองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5.1% แต่มีเงื่อนไขเช่นกันว่า ต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 และจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ  พร้อมทั้งต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ประมาณ 30% แต่หากเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองยืดเยื้อจะทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยลดลง 3 แสนคน ส่วนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทำได้เพียง 10% นั่นเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3.5% เท่านั้น หากร้ายไปกว่านั้น…การเมืองไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มีคนได้รับบาดเจ็บมากขึ้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% ก็เป็นไปได้ แม้ว่าแรงฉุดใหญ่และสำคัญอย่างการส่งออกจะมาช่วยฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจปี 57 ดิ่งหัวลงไปมากกว่านี้ก็ตาม ด้วยเพราะ สศค. มองว่าในช่วงที่เศรษฐกิจซึมจากปัญหาการเมืองในประเทศ จะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศลดลง แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องติดตามด้วยเช่นกันคือเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ หากผิดนัดหรือเบี้ยวหนี้ขึ้นมาก็จะทำให้ปัญหาหนี้เน่าในระบบเพิ่มขึ้น หากสูงกว่า 5-6% นั่นเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะอันตรายและกระทบต่อโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะที่ผ่านมาตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต เริ่มลดลงซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มลดลงแล้ว และหากเศรษฐกิจไทยดิ่งลงเหว…นั่นจะยิ่งทำให้เครดิตของประเทศลดน้อยลงและขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศ สุดท้ายคนไทยทั้งประเทศต้องเป็นผู้รับกรรม!! ดังนั้นในปี 57 นี้ จะเป็นม้าคึกหรือม้าง่อย…ก็ขึ้นอยู่กับ “การเมือง” ล้วน ๆ. มาริสา ช่อกระถิน ‘การเมือง’โจทย์ใหญ่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ขณะนี้ไทยยังมีโจทย์ใหญ่ด้านการเมืองอยู่ ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องของเศรษฐกิจที่จะปรับขึ้นหรือปรับลงเสียอีก เพราะความเห็นต่างทางการเมืองเวลานี้ควรได้รับการแก้ไข โดยปัจจุบันมีข้อดีที่ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาแสดงความคิดเห็นแนะทางออกประเทศ จึงเชื่อว่าท้ายสุดปัญหาดังกล่าวน่าจะหาทางออกได้ ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า แต่ยังต้องติดตามว่าไทยจะสามารถปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากการฟื้นตัวได้มากเพียงใด ขณะที่ความเสี่ยงยังเป็นเรื่องมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต้องรอดูผลกระทบในการลดเงินที่อัดเข้าสู่ระบบว่าส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอย่างไร ทำให้ ธปท.ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคในประเทศจะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น แม้ปีนี้อยู่ในช่วงของการปรับฐาน ส่วนการลงทุนน่าจะได้รับผลดีจากแผนการลงทุนของภาครัฐและส่งผลไปยังการลงทุนของภาคเอกชน แต่หากสถานการณ์การเมืองไม่ดีขึ้นก็จะส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัว โดยประเมินว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 57 น่าจะเติบโตได้ในระดับ 6-7%  ส่งออกดีเศรษฐกิจรุ่ง “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์” ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ บอกว่า เศรษฐกิจในปี 57 นี้ น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 56 เพียงเล็กน้อย ปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกจะสามารถฟื้นตัว และพัฒนาความสามารถแข่งขันให้ดีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีมากน้อยเพียงใด หากส่งออกเพิ่มขึ้นได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ที่ 3% และถ้าส่งออกดีขึ้นเรื่อย ๆ จะขยายตัวถึง 4% แต่หากทำไม่ได้ก็อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างลำบาก รวมทั้งต้องจับตาปัญหาการเมือง หากยังยืดเยื้อเศรษฐกิจจะเติบโตได้ยากอาจไม่ถึง 3% ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่มีสาเหตุจากนโยบายประชานิยม หรือการขาดทุนจากภาคส่งออก ซึ่งการขาดดุลของรัฐบาลมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญปัญหาแรงกดดันจากการปรับขึ้นค่าแรง และการขาดแคลนแรงงานส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าอาจกระทบต่อผู้ประกอบการได้ จีดีพีพุ่ง 4-5% ขึ้นอยู่กับ3ปัจจัย “อาคม เติมพิทยาพสิฐ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มองว่า เศรษฐกิจของประเทศปี 2557 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4-5% แต่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านปัจจัยหลัก 3 ประการ การลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ลดภาระต้นทุนโลจิสติกส์ ภาครัฐควรผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขัน และเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้ลงทุนในไทย รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระยะยาว   นอกจากนี้ยังต้องมีความต่อเนื่องในเรื่องการผลักดันภาคการส่งออกผ่านมาตรการส่งเสริมและการเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องสานต่อมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้ายต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงกว่าเป้าหมาย สร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทย  ปัจจุบันรายได้จากท่องเที่ยวสูงกว่า 10% ของจีดีพี ส่วนสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 4 ด้าน คือ การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐในปี 57 และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจปีมะเมียอาการสาหัส กูรู…ฟันธงการเมืองฉุดจีดีพีวูบ

รัฐบาลใหม่ที่คนไทยอยากได้ ผลสุดท้าย…เป็นจริงหรือแค่ฝัน!

 สารพันเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยตลอดปี 56 ไล่มาตั้งแต่โครงการประชานิยมรัฐบาล ปัญหาปากท้อง มาจนถึงม็อบมวลมหาประชาชนขับไล่รัฐบาลช่วงปลายปี หลายสิ่งหลายอย่างได้ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของรายได้ หนี้สิน และปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ยังบ่นกันเสียงขรมว่า เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของแพง ขายของไม่ได้ ดังนั้นเมื่อปีเก่าผ่านพ้นไปแล้ว มาเริ่มต้นปีใหม่ ทุกคนตั้งความหวังว่า อย่างน้อย…ขอให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ยังดี  ดังนั้นเพื่อให้สะท้อนถึงความต้องการของชาวบ้านที่เป็นกลุ่มรากหญ้าอย่างแท้จริง ทีมเศรษฐกิจ “เดลินิวส์” จึงได้รวบรวมเสียงเล็ก ๆ ของประชาชนหลากหลายอาชีพมาให้ทราบกันว่า เมื่อถึงช่วงปีใหม่แล้ว พวกเขาเหล่านี้อยากให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทยบ้าง  แม่ค้าต้องการ “คนดี” เริ่มต้นจาก “ป้าอุไร จารุกานนท์” แม่ค้าขายผลไม้วัยเกษียณย่านบางขุนพรหม บอกว่า ปีใหม่นี้ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเรื่องเศรษฐกิจ หรือรายได้มาก เพราะอาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงกับรายได้ที่ไม่คงที่อยู่แล้ว บางวันได้น้อยได้มาก แต่ก็หวังลึก ๆ ว่า หากเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คนไม่เป็นหนี้อะไรเพิ่มขึ้น คงมีกำลังออกมาจับจ่าย ส่วนนโยบายรัฐบาล ก็ไม่อยากขออะไรมาก แค่ต้องการให้มีคนดีจริงเข้ามาบริหารประเทศ ดูแลปัญหาปากท้อง และรายได้ให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนกว่าที่เป็นอยู่ก็คงพอ ส่วนเศรษฐกิจปี 56 ดูเหมือนไม่ค่อยดี เพราะคนจับจ่ายซื้อของกันน้อย ส่วนต้นทุนค่าผลไม้หลากหลายชนิดที่นำมาปอกใส่ถุงขาย ก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนมากเกือบเท่าตัว เช่น ฝรั่ง ราคาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีจากกิโลกรัมละ 25 บาท เพิ่มเป็น 35 บาท มันเทศที่นำมาต้ม ถุงละ 10 กิโลกรัม ราคาเพิ่มจาก 180 บาท มาเป็น 230 บาท ทำให้ตอนนี้ขายของได้น้อยลง เพราะซื้อของมามากไม่ได้ จึงส่งผลให้รายได้แต่ละวันลดลง และนอก จากราคาผลไม้จะขึ้นแล้ว แก๊สหุงต้มก็ปรับขึ้นราคามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้ เพราะต้องขายของหาเลี้ยงชีพ ถึงแม้ต้นทุนเพิ่มขึ้นขายได้น้อยก็ต้องขาย  สามล้อขอดูแลค่าครองชีพ “มนชัย วิมานทอง” ผู้ขับรถสามล้อรับจ้างชาวจังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่า นักท่องเที่ยวหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ ไม่เหมือนช่วง 2-3 ปีก่อนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากที่เรียกให้ไปส่งที่ถนนข้าวสาร แต่ตอนนี้ไม่เห็นมีเหมือนก่อน โดยไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าหายไปไหน สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น จึงทำให้รายได้หายไปบ้าง แต่ก็ยังดีที่มีลูกค้าประจำที่เรียกใช้บริการอยู่ ส่วนรายได้ก็ยังคงที่ไม่เพิ่มขึ้น แต่ละวันได้เงินประมาณ 1,000–1,200 บาท แต่หักค่าน้ำมัน ค่าเช่า ค่ากับข้าวที่ซื้อกลับเข้าบ้านก็เหลือเพียง 200-300 บาทเท่านั้น  “มนชัย” ยังบอกด้วยว่า ปัญหาทางการเมืองที่มีกลุ่มมาชุมนุมกันในตอนนี้ แม้ว่าจะทำให้มีรายได้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่มากมาย เพราะต้องขับรถหลีกหนีบริเวณชุมนุม ทำให้ต้นทุนค่าแก๊สเพิ่มขึ้น คิดราคาสูงมากก็ไม่ได้ เพราะผู้โดยสารที่เรียกใช้บริการก็จ่ายเงินในราคาเดิม ส่วนเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นในปีหน้าสำหรับเหล่าผู้มีอาชีพขับรถรับจ้างสาธารณะก็คือ การให้ภาครัฐช่วยอุดหนุนต้นทุนค่าแก๊ส หรือเป็นไปได้ก็อยากให้ขึ้นราคาแก๊สปีละไม่เกิน 2 ครั้งก็พอ แต่จะทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกวันพอมีรายได้เลี้ยงชีพอยู่บ้าง แม้ว่าไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลที่เข้ามาต้องดูแลค่าครองชีพให้กับคนไทยด้วย รัฐบาลต้องช่วยรากหญ้าจริง ๆ “จารุวรรณ แย้มกลีบบัว” เจ้าของร้านขายหนังสือย่านสามเสน เสนอว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ ทำนโยบายอะไรให้ดูความต้องการของประชาชนที่เป็นรากหญ้าจริง ๆ ด้วย ไม่ใช่เอาภาษีไปใช้ในทางที่ไม่ถูก อยากให้มาดูชีวิตประจำวันของประชาชนที่ประกอบอาชีพกันจริง ๆ ว่า เดือดร้อนเรื่องอะไร ช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ และอยากให้นโยบายเดิมดี ๆ ที่หลายรัฐบาลทำไว้ยังคงมีอยู่ เช่น มาตรการรถเมล์ฟรี นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีที่ช่วยเหลือด้านการเดินทางของประชาชนที่มีรายได้น้อย แต่ก็ต้องปรับปรุงเรื่องของบริการใหม่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถ และกระเป๋ารถเมล์ให้เป็นมิตร และคอยดูแลผู้โดยสารมากขึ้น ส่วนเรื่องของรายได้ประจำวันก็อยากให้ช่วยดูมาตรการที่เหมาะสมที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มกำลังซื้อของคนจริง ๆ เพราะตอนนี้คนไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เห็นได้จากคนที่มาซื้อหนังสือที่ร้านตอนนี้เหลือน้อยลงทุกวัน และไม่ค่อยมีคนอ่านหนังสือมากเหมือนสมัยก่อนแล้ว     หวังรัฐบาลใหม่ไม่ทุจริต ด้าน “ปิยวัตร ภูมิยิ่งยง” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า สิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลใหม่ในแง่ของเศรษฐกิจ อันดับแรกคือการเลือกตั้งใหม่ที่ใสสะอาด ยอมรับได้ทุกฝ่าย ปัญหาความขัดแย้งถูกแก้ไขไปได้ก็จะดีที่สุด ส่วนเรื่องเศรษฐกิจหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ออกโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ ส่วนนโยบายอะไรที่ดีอยู่แล้วก็น่าจะสานต่อและพัฒนาขึ้นไปเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ อยากให้คนที่มาเป็นรัฐบาลไม่ทุจริตในโครงการลงทุนทุกอย่างด้วย นอกจากนี้ยังหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ช่วยสร้างโอกาสให้แก่ประชาชน โดยออกโครงการที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่านี้เพื่อสร้างโอกาสในการทำมาหากินให้กับประชาชนที่มีทุนน้อยหรือไม่มีทุนเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ วอนรัฐแก้ปัญหาให้ตรงจุด ปิดท้ายที่ “ปราณี บุญหล้า” พนักงานฝ่ายประสานงานของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า ตามนโยบายของรัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีเงินเพิ่มเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซ้ำยังเจอกับข้าวของขึ้นราคา ขณะที่ผู้ที่จบปริญญาตรีหลายคนก็ไม่ได้รับเงินเดือนถึง 15,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลที่จะมาใหม่มองดูปัญหาให้ชัด และแก้ปัญหาให้ได้ตรงจุด ขณะที่นโยบายอื่นที่อยากให้มีคือ การให้ความสำคัญกับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือคนไม่มีบ้าน แก้ปัญหาชุมชนแออัด แรงงานต่างชาติ เพื่อไม่ให้มาเป็นปัญหาสังคมในภายหลัง เสียงที่ว่ามาข้างต้นคงเป็นเพียงเสียงของประชาชนบางอาชีพ ที่สะท้อนออกมาแล้วว่า ใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารประเทศจากนี้จำต้องรู้ว่า ความต้องการของประชาชนรากหญ้าที่แท้จริงต้องการอะไร   ท้ายที่สุดนี้ได้แต่หวังว่า…เสียงสะท้อนจากประชาชนคนไทยตัวจริงเสียงจริงนี้ คงสะกิดเตือนต่อมความรู้สึกของรัฐบาลชุดใหม่กันบ้าง!. วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รัฐบาลใหม่ที่คนไทยอยากได้ ผลสุดท้าย…เป็นจริงหรือแค่ฝัน!

Page 1232 of 1552:« First« 1229 1230 1231 1232 1233 1234 1235 »Last »
Home Webmail Password Help File Manager Logout Edit a file