shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

shoplri.com ธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจsme

Archives for ข่าวการตลาด เศรษฐกิจ

บัตรวีซ่ามัลติเคอร์เรนซี่ทราเวลพรีเพดเปิดมิติใหม่ระบบการเงิน‘พม่า’

“บัตรวีซ่าซีบีแบงก์อีซี่ทราเวล” อีกก้าวของการพัฒนาระบบทางการเงินของเมียนมาร์ และเปิดประตูสู่ตลาดทั่วโลกแก่คนในท้องถิ่นที่ต้องการเดินทางไปยังต่างประเทศทั้งสำหรับการทำธุรกิจและการท่องเที่ยว คุณสมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศเมียนมาร์และไทย เชื่อว่า บัตรใบนี้จะช่วยให้คนท้องถิ่นสามารถทำการชำระเงินในต่างประเทศได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องกังวลถึงการพกพาเงินสดในระหว่างการเดินทาง ซึ่งเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์และการเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารกลางของประเทศเมียนมาร์และซีบีแบงก์ในการปฏิรูปการชำระเงินสำหรับประชาชนของเมียนมาร์ให้ทันสมัยขึ้น “ในปีที่ผ่านมา เราได้เล็งเห็นการเติบโตที่ดีมากในการพัฒนาของธนาคารท้องถิ่นในประเทศเมียนมาร์ และเราเชื่อว่าเมียนมาร์ยังมีประสิทธิภาพที่จะเติบโตไปได้อีกไกลและพร้อมที่จะเปลี่ยนระบบการชำระเงินแบบดั้งเดิมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งประเทศในการเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศรวมไปถึงผู้ถือบัตรชาวท้องถิ่นและร้านค้าในระดับสากล” บัตรวีซ่า ซีบีแบงก์อีซี่ทราเวล สามารถเติมเงินได้ถึงสามสกุลเงิน ได้แก่ ยูโร ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์สิงคโปร์ในหนึ่งครั้ง ขั้นต่ำ 50 ดอลลาร์สหรัฐ และมากสุดถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีค่าธรรมเนียมเปิดบัตรครั้งแรก ราคา 8,000 จ๊าด หรือ 8 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่ระบบการชำระเงินของวีซ่าได้เปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในประเทศเมียนมาร์ การชำระเงินผ่านบัตรวีซ่าจากนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม มียอดมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันนี้ในเมียนมาร์  ผู้ถือบัตรวีซ่าสามารถถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้มากกว่า 450 ตู้ และสามารถชำระเงินผ่านบัตรได้มากกว่า 750 ร้านค้าทั่วประเทศ.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บัตรวีซ่ามัลติเคอร์เรนซี่ทราเวลพรีเพดเปิดมิติใหม่ระบบการเงิน‘พม่า’

Posts related

 














‘ธอส.’ย่างก้าวที่มั่นคงสู่ AEC

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) หรือ เออีซีในปี 2558 ส่งผลให้ภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่กฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การค้า บริการ และการลงทุน แน่นอนว่า อสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเออีซีทั้งใน เชิงบวกและลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเดินทางไปมาหาสู่กันของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดอุปสงค์ต่ออสังหาริมทรัพย์ในหมวดโรงแรม ที่พัก และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่าประเภทอื่น ๆ ตามมาจำนวนมาก เช่น เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมเพื่อการเช่า และในอนาคตจะเกิดอุปสงค์ต่อคอนโดมิเนียมเพื่อการซื้อขาย เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยประเภทที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อขายกันได้ในหลายประเทศ จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวางในทุกประเทศสมาชิก โดยเฉพาะโครงสร้างด้านการคมนาคมสื่อสาร มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งทางหลวง มอเตอร์เวย์ ถนนหลายช่องจราจรระหว่างเมือง เส้นทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางรถไฟระบบรางคู่สนามบินพาณิชย์ ยังส่งผลให้เกิดความต้องการวัสดุก่อสร้างและแรงงานจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลเชิงลบด้านต้นทุนการก่อสร้างที่จะสูงขึ้น การแข่งขันกันดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ อาจส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องขยายสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หรืออะลุ้มอล่วยมากขึ้น หรือการให้สิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะเพื่อส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์และประเภทอื่น ๆ จะมีความเชี่ยวชาญระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่จะแสวงหาโอกาสในการออกไปลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาชิก นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาท และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 มีผลช่วยให้เกิดการขยายตัวของเมือง และยังเพิ่มความต้องการในด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งมีส่วนช่วยให้แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 เติบโตได้ดี เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงตลาดการค้าการลงทุน นำความเจริญสู่ภูมิภาค ทั้งจังหวัดหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการต่างเริ่มลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง เพราะมองเห็นโอกาสจากความเจริญที่จะเกิดขึ้น และจากปัจจัยดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยสร้างความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตามมา ธอส. ยังได้รองรับการก้าวเข้าสู่เออีซีด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุก ภายใต้แนวคิด “ก้าวไกล ก้าวทัน AEC กับ ธอส. 2557” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มงานสาขาภูมิภาค ได้แก่ สายงานสาขาภูมิภาค 1 ประกอบด้วย ฝ่ายสาขาภาคเหนือ และฝ่ายสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายงานสาขาภูมิภาค 2 ประกอบด้วย ฝ่ายสาขาภาคตะวันออกและภาคกลาง ฝ่ายสาขาภาคใต้และภาคตะวันตก โดยมีรองกรรมการผู้จัดการ กำกับดูแล เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแกร่ง รองรับการแข่งขันและความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ขณะที่ นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. เปิดเผยว่า หัวเมืองที่ ธอส. พร้อมที่จะเข้าไปพัฒนาและให้บริการสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์จะเป็นจังหวัดใหญ่หรือจังหวัดชายแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก หนองคาย อุบลราชธานี อ.ชะอำ เพชรบุรี อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังอยู่ในเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและระบบราง ที่จะเป็นประตูผ่านเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ดีด้วยการเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าไปแข่งขันในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐอย่างธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารพาณิชย์ของเอกชนที่บุกเข้าไปตั้งสาขาเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศสมาชิกบ้างแล้ว ดังนั้นภารกิจสำคัญจึงยังอยู่ที่การให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าคนไทยเท่านั้น ทั้งนี้หากมองในแง่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.มองว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจมากที่สุด เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ค่อนข้างสูง อีกทั้งมีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมั่นคง เพียงแต่มีข้อเสียคือ อยู่ไกลจากประเทศไทย ส่วน เมียนมาร์ ก็มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย แต่มีความเสี่ยงที่กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีกฎหมายอาคารชุด กฎหมายการลงทุนยังไม่ชัดเจน นายสัมมา กล่าวด้วยว่า ความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้เป็นทั้งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและหนทางสู่ความล้มเหลว ขึ้นอยู่กับการให้ความสนใจใฝ่หาข้อมูล การลงพื้นที่เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านกฎหมาย การตลาด และการลงทุน รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรที่มีความชำนาญและซื่อสัตย์ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนเชิงโลจิสติกส์ที่ดี เนื่องจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทต้องเกี่ยวข้องกับการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ขนาดใหญ่และขนาดหนัก รวมทั้งบุคลากร แรงงานระดับต่าง ๆ จำนวนมากด้วย. พริษฐ์ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ธอส.’ย่างก้าวที่มั่นคงสู่ AEC

แนะเรียน“ภาษาจีน” ภาษาที่สามรับเออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

นอกจากภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันอย่างสากลแล้ว “ภาษาจีน” ก็ถือเป็นอีกภาษาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันยิ่งในยุคนี้ที่ประเทศจีนได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจของโลกคนใหม่แทนชาติตะวันตกทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนอาจจะต้องเรียนรู้ภาษาจีนเอาไว้อีกสักภาษาหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมหากจะตัดสินใจร่วมทำธุรกิจกับคนจีนในอนาคต ส่วนประเทศไทยเองก็มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นในทุกระดับกับประเทศจีนโดยเฉพาะเรื่องการค้าเห็นได้จากการส่งออกและนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับประเทศจีนเป็นลำดับต้น ๆ และยิ่งในเวลาอันใกล้นี้จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีด้วยความที่เป็นภูมิภาคเนื้อหอมแห่งใหม่ของโลกก็ช่วยดึงดูดประเทศจีนให้ความสนใจหอบเงินเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดร.บุรินทร์ ศรีสมถวิล ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาที่สองสาขาวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการเศรษฐกิจติดจอทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าจากนี้ไปประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุนดังนั้นจึงอาจมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มเติมเพื่อใช้สื่อสารให้สะดวกกันมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ทำงานกับชาวจีนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านภาษาอยู่มากแม้ว่าพอจะรู้บ้างแต่ก็ใช้สื่อสารไม่ได้จึงถือเป็นข้อจำกัดของการทำงานได้อย่างไม่เต็มที่มากนัก “ต่อไปเชื่อว่าภาษาจีนน่าจะเป็นภาษาที่สำคัญในอาเซียนดังนั้นภาษากลางที่ 3 ของคนไทยนอกจากภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็น่าจะเป็นภาษาจีนเพราะว่าองค์กรใหญ่ ๆ ที่ทำงานในไทยก็เป็นของคนจีนหรือเกี่ยวข้องกับประเทศจีนทั้งนั้นขณะที่สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาเอกภาษาจีนในระดับอุดมศึกษามี 55 แห่งในไทยส่วนใหญ่ก็มีคุณภาพใกล้เคียงกันแต่จะแยกความจำเป็นของการเรียนการสอนออกไปตามความต้องการของผู้เรียน ทั้งเรียนเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจสื่อสาร หรือด้านอื่น ๆ” สำหรับการสร้างความน่าสนใจให้คนไทยเข้ามาเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มขึ้นนั้นหน่วยงานทุกภาคส่วนควรหาช่องทางส่งเสริมและแนะนำ ว่าต่อไปนี้ภาษาจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากหลังจากที่เปิดเออีซีแล้วจึงอาจหาช่องทางสนับสนุนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนเจ้าของกิจการเองก็ควรหันมาให้ความสำคัญด้วยโดยอาจส่งเสริมให้บุคลากรไปเรียนภาษาจีนเพิ่มเช่น อาจจับมือกับโรงเรียนสอนภาษาที่เป็นเอสเอ็มอีจัดการเรียนการสอนภาษาจีนที่สามารถใช้ได้กับงานที่ทำอยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพของบุคลากรภายในองค์กรของตัวเองให้มีประสิทธิภาพซึ่งเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งทำหรือให้เจ้าของกิจการยอมควักกระเป๋าจ้างคนของตัวเองเข้าไปเรียนให้ได้ ทั้งนี้สถาบันสอนภาษาจีนเองก็ยังต้องปรับตัวโดยสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเรียนเพิ่มและคงไม่ต้องรอให้บริษัทต่าง ๆ เดินเข้ามาหาแต่ต้องไปหาบริษัทเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนชี้แจงให้ทราบถึงความสำคัญของการเรียนภาษาจีนอย่างเช่น ต้องบอกให้รู้ว่าเมื่อเรียนแล้วเรียนทำไม หรือไม่เรียนไม่ได้ต้องบอกให้ชัดให้เจ้าของกิจการเข้าใจพร้อมกับจัดหลักสูตรการสอนให้ครอบคลุมตามความต้องการอย่างเหมาะสมด้วย นอกจากนี้ในรายของการสอนผ่านช่องทางอิสระเช่น รับสอนตามบ้านซึ่งส่วนใหญ่ใช้ช่องทางการติดต่อและประชาสัมพันธ์ผ่านสังคมออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันแต่ก็คิดค่าสอนราคาสูงก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจเรียนจะเลือกได้แต่เมื่อเรียนจบแล้วก็อาจจะไม่ได้รับวุฒิอะไรรับรองว่าเรียนจบ หรือเมื่อเรียนจบไปแล้วก็อาจจะพอพูดได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตามในปี 57 ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เตรียมจัดหลักสูตรการเรียนภาษาจีนใหม่ไว้เพื่อสอนให้บุคลากรสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนได้โดยจะพิจารณาการสอนเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับความต้องการเช่น หากต้องการเรียนรู้ภาษาจีนกับการทำงานคอมพิวเตอร์ ภาษาจีนกับการออกแบบซึ่งแต่ละอย่างจะใช้ภาษาที่มีศัพท์เฉพาะไม่เหมือนกัน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับงานได้อย่างถูกต้องและนำไปใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ได้ในทันทีขณะเดียวกันยังเป็นการป้อนบุคลากรให้มีความรู้พื้นฐานด้านภาษาจีนที่ตรงกับงานได้อีกด้วย ดร.บุรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่าคนไทยมีความเก่ง และขยันหาความรู้โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษาต่างชาติแต่ก็ไม่อยากให้คิดเรียนไปตามกระแส แต่เมื่อตัดสินใจลงทุนควักเงินไปเรียนแล้วต้องดูด้วยว่าเรียนไปแล้วสามารถใช้กับชีวิตประจำวันหรือใช้เพื่อทำงานได้หรือไม่ที่สำคัญอยากให้มองถึงความจำเป็นในอนาคตพิจารณาความพร้อมของตัวเองซึ่งภาษาจีนก็ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลายคนอาจต้องเรียนรู้เพื่อเป็นภาษาที่สามติดตัวไปประกอบอาชีพในวันข้างหน้า.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะเรียน“ภาษาจีน” ภาษาที่สามรับเออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Page 1275 of 1552:« First« 1272 1273 1274 1275 1276 1277 1278 »Last »
Home Webmail Password Help File Manager Logout Edit a file